องค์การบริหารส่วนตำบตท่านางแนว อำเภอแวงน้อย จังหวัดขอนแก่น : www.thanangnaew.go.th

 
 
ประวัติและความเป็นมา

 

ประวัติตำบลท่านางแนว

บ้าน        คือ           สถานที่ตั้ง             เนานอน

ท่า           คือ           ฝั่ง(น้ำ)สัญจร       ดอกเจ้า

นาง        คือ           นิ่มนวลสมร         ผู้ผ่านไปมา

แนว        คือ           ผู้หญิงผู้เฒ่า          ซึ่งม้วยมรณา

                                           *************************************************

                                เมื่อประมาณ พ.ศ. 2426 ปลายปี    มีครอบรัวหนึ่งได้พาเมียและลูกมาจากบ้านยางหวาย   (เขตอำเภอคอนสวรรค์)  มาตั้งบ้านเรือนอยู่โนนตาจั่น   บริเวณตะวันออกกุดเป่ง   หรือเป็นบริเวณคลองส่งน้ำในปัจจุบันนี้  เดิมบ้านนี้ชื่อว่า  บ้านหาดทรายมูล  แต่บางคนก็เรียกบ้านใหม่  (เพราะแยกออกมาตั้งใหม่)  ผู้ที่นำครอบครัวมาตั้งใหม่ชื่อ นายตา  ภรรยาชื่อ นางมา (ผู้เป็นต้นตระกูล  บุญเพลิง)  ในขณะนั้นมีลูกอยู่ด้วยกันเพียง  4  คน คือ นายสังกา  นายย่อ  นางแซว  และนางสุข  ระหว่างที่ปลูกบ้านอยู่โนนตาจั่น  ประมาณ 4-5 ปี  มีบุตรด้วยกัน  1  คน   แต่บุตรคนนั้นตายขณะที่ยังเล็กอยู่  น้ำในลำแม่น้ำชีก็ไหลหลากมาท่วมบริเวณบ้านทำให้เกิดความหวาดกลัว  จึงอยากพาครอบครัวกลับคืนบ้านเดิม  แต่นึกละอายจึงขยับขยายมาหาทำเลปลูกบ้านใหม่  พอดีมาพบที่เนินทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของที่เดิม (โนนป่าจั่น)  เห็นว่าเป็นที่เนินสูงน้ำท่วมไม่ถึง  จึงได้ย้ายบ้านเรือนมาตั้งอยู่ที่บริเวณหมู่บ้านปัจจุบันนี้

                                ต่อมาเมื่อประมาณ พ.ศ. 2432  ได้มีครอบครัวอีกครอบครัวหนึ่ง  อพยพมาจากบ้านแวงน้อย  (ตำบลแวงน้อยในปัจจุบันนี้)  มาปลูกบ้านเรือนอยู่ด้วยกัน  ผู้ที่เป็นหัวหน้าครอบครัว คือ นายสิม  นางพลวง ครอบครัวนี้มีบุตรด้วยกัน 6 คน คือ นายอินทร์  นายวงษ์  นางอ๊อด  นายโม้  นางอุ้ย  นายนิล   (เป็นต้นตระกูล  ปราบบำรุง)  นายอินทร์นี้เป็นพระภิกษุ  มีสมณศักดิ์เป็นพระปลัดอินทร์  มีชื่อเสียงโด่งดังมากในสมัยนั้น  มีศิษยานุศิษย์อยู่ทั่วสารทิศ  อยู่ต่อมา ๆ หมู่บ้านนี้ก็ขยายออกไปเรื่อย ๆ เพราะมีคนอพยพมาอยู่เพิ่มขึ้น เช่น ตระกูลเกิดศักดิ์   ก็ได้อพยพมาอยู่ประมาณ  พ.ศ. 2435   ผู้ที่เป็นหัวหน้าของตระกูลนี้มีชื่อว่า  นายก้อนทอง   นางบู่

มีลูกเต้ากันหลายคน  ต่อมาก็มีน้องชายของนายตา  ชื่อนายขาว  ก็ได้นำครอบครัวตัวเองมาอยู่ร่วมบ้านพี่ชายด้วย  นายขาวมีภรรยาชื่อ นางมา  ชื่อเหมือนกับพี่สะใภ้

                                ต่อมาก็มีครอบครัวต่างๆ มาเพิ่มเรื่อย ๆ  เช่น ตระกูลคำศรี  มีนายจำปา  นางเข็ม  มาจากบ้านยางหวาย  เมื่อประมาณ พ.ศ. 2493  ตระกูลบุตรแวง มีนายจันดา นางแต่ง  มีลูกเต้าด้วยกันหลายคน เช่น นางปลา  นางบุตร  นางหนา  นายโสม  นายสรวง  นายพลวง

                                ปี  2440  มีนายทองดี  นายปาน  มาจากนครราชสีมา  ปี  2442  มีตระกูล  ตะโกสีย์  มาจากเขตนครราชสีมาเข้ามาอยู่  มีพี่น้องหลายคน พี่ชายคนโตชื่อ นายแหยม  นายโฮม  นายเขียว  นางเบ้า นายบุญ  นายอ่ำ  นางจุ่น  นางแอต  ในปีเดียวกันนี้มีครอบครัวหนึ่งมาจากเขตนครราชสีมา  หัวหน้าครอบครัวชื่อ นายสน  โกสุม  นางตุ้ม ลูกชื่อ นางมี  นายสี  นายน้อย  นายไร   ต่อมานางมีแต่งงานกับนายชื่น  นายชื่นเป็นต้นตระกูลเกตุนอก

                                ในปีต่อมามีครอบครัวหนึ่งอพยพมาจากบ้านเดื่อ  อำเภอจัตุรัส  จังหวัดชัยภูมิ  ผู้ที่เป็นหัวหน้าครอบครัวชื่อนายก้อน  นางปาน  มีลูกติดตามมาหลายคนชื่อ  นายพิม  นายพา  นายเขียว  นางสิ่ว  นางหล่า 

ต้นตระกูลวิเศษตุ่น    ต่อมานางสิ่วได้แต่งงานกับนายพรม  นายพรมเป็นต้นตระกูลขจรไพร

                                ในปีเดียวกันนี้มีตระกูลพงษ์ศิลา    มาจากบ้านแวงน้อย    ผู้เป็นต้นตระกูลนี้ชื่อ   นายจันทา 

นางโคตร  นางโคตรมีพี่น้องตามมาด้วย  ชื่อนางจันทร์  ต่อมานางจันทร์แต่งงานกับนายอินทร์  นายอินทร์มาจากบ้านโสก  พร้อมครอบครัวนายเพชรด้วย  พวกนี้เป็นต้นตระกูลเหชัยภูมิ  ในเวลาไล่เลี่ยกันก็มีตระกูลมาปานเข้ามาอีก  นายทูล  นางสี  เป็นต้นตระกูล  มีพี่น้องตามมาอาศัยอยู่ด้วย  ได้แต่งงานกับนายทองดี  จึงเกิดมีตระกูล

ตอชัยภูมิขึ้นอีก

                                ในระหว่างนั้นมีตระกูลแสงเมืองเข้ามาพร้อมกับตระกูบนาปาน    ผู้เป็นต้นตระกูลแสงเมือง

มีชื่อนางพรม  นางตา  ในปีต่อมาก็มีตระกูลบุญหนาเข้ามา  นายเปรื่อง  นางทองดี  เป็นต้นตระกูลปีต่อ ๆ มา

ก็มีตระกูลพุทธสะ  มาจากบ้านทุ่งมน  นายบาง  นางหล้า  เป็นต้นตระกูล  และตระกูลแสงจันทร์ก็เข้ามาอีก 

ผู้เป็นต้นตระกูลชื่อ  นายบุญมี  นางพิม  และยังมีหลานชายตามมาอีก คือ นายจันดี  แสงจันทร์  ได้แต่งงานกับนางบัว  ซึ่งเป็นบุตรสาวคนโตของนายขาว  นางมา

                                เมื่อหมู่บ้านขยายเติบโตขึ้น  ก็คิดอยากสร้างวัด คือ สำนักสงฆ์ขึ้นทางทิศใต้ของหมู่บ้าน  เป็นเวลาหลายปี  (ปัจจุบันคือคุ้มแต้)  แต่ก่อนเรียกว่า  โนนวัด  (ซึ่งปัจจุบันได้มีราษฎรครอบครัวทำประโยชน์เป็นที่ปลูกบ้านทั้งหมดแล้ว  บางส่วนได้มีการออกเอกสารสิทธิ์เป็นโฉนดแล้ว)  เมื่อเห็นว่าเป็นโนนวัดที่ไม่มั่นคง 

จึงได้ย้ายจากทิศใต้มาตั้งใหม่คือที่บริเวณวัดปัจจุบัน  เมื่อปี พ.ศ. 2450-2452  สร้างศาลาการเปรียญเสร็จ 

ใช้ประกอบกิจทางศาสนาได้  ครั้นถึงปี พ.ศ. 2453  พระปลัดอินทร์  ได้ชักชวนชาวบ้านก่อสร้างอยู่ประมาณ 

6  ปี เศษ จึงเสร็จใช้ประกอบศาสนกิจได้

                                ในระหว่างนี้  มีหญิงวัยกลางคนคนหนึ่ง  ได้เดินทางมาจากอำเภอพยัคฆ์ภูมิพิสัย  ผ่านบ้านนี้ไปข้ามท่าน้ำชี  เพื่อไปเยี่ยมญาติที่บ้านโพธิ์  ในเขตจังหวัดชัยภูมิ  ขากลับหญิงคนนี้ก็เดินทางกลับตามส้นทางเดิมพอข้ามน้ำชีมาได้  จะขึ้นฝั่งน้ำชี  ก็เกิดเป็นลมชักขึ้นมา  และเสียชีวิตอยู่ที่ท่าน้ำแห่งนี้  หญิงคนนี้มีชื่อว่านางแนว  คนทั้งหลายจึงพูดติดปากต่อมาว่าจะข้ามท่าไหน  ก็พูดตอบกันว่า ท่าอีแนว  นาน ๆ เข้าคำว่าท่าอีแนว  ก็เลยเรียกเป็นชื่อหมู่บ้านท่าอีแนว  เนื่องจากเป็นคำไม่สุภาพ  จึงเรียกว่า  บ้านท่านางแนว  และวัดก็ได้ชื่อว่า วัดทรงศิลาบ้านท่านางแนว  ตั้งแต่ พ.ศ. 2456  มาจนถึงปัจจุบันนี้

 

 

 

 

รวบรวมโดย  อาจารย์เที่ยง  ไชยปรีชา